วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“สายธรรมพระพุทธเจ้า” (Introducing Buddha)

มติชนสุดสัปดาห์ คัมภีร์พุทธธรรมสมัยใหม่ : ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม
เอื้อ อัญชลี เขียน


หนังสือเรื่อง “ สายธรรมพระพุทธเจ้า”  (Introducing Buddha)  เขียนโดยเจน โฮป  แปลโดย ภัทรารัตน์  สุวรรณวัฒนา  เป็นการสำรวจเส้นทางพุทธธรรม  จากพุทธกาลถึงโลกสมัยใหม่  ด้วยสายตาและท่าทีที่สนุกสนามคมคาย  ผสมผสานระหว่างสื่อทั้งภาพและถ้อยคำ  ทำให้รู้สึกว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เปิดกว้าง  สามารถมีความเต็มอิ่มต่อวิถีชีวิตและตื่นรู้ด้วยหนทางที่ไม่จำกัด  เห็นความต่อเนื่องและแปลความหมายที่ก้าวหน้าขึ้นมาก  จากปรากฏการณ์ในการเข้าสู่สังคมตะวันตกของพุทธศาสนา  กระทั่งพลิ้วไหวระบัดใบแห่งความศรัทธาไปด้วยท่วงทำนองที่ทรงพลังในหลากหลาย รูปลักษณ์  โดยเฉพาะวัชรยานที่เหมือนจะเหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมของชาวตะวันตก

อย่าง พุทธประวัติของพระพุทธเจ้า  สำหรับเถรวาทเป็นประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์  สำหรับมหายาน  พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาต่อสรรพสัตว์  และสำหรับวัชรยานพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เข้าถึงธรรม  ซึ่งหมายถึงความเป็นพุทธะ  หรือความตื่นรู้ที่มีอยู่ในตัวของทุกคน

พุทธ ธรรมสายวัชรยานหรือตันตระ  ได้รับการยอมรับในสังคมตะวันตก  ซึ่งมีรากฐานของการรองรับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน  การเข้าถึงธรรมที่รู้แจ้งได้ในทุกสภาพของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ  พ่อค้า  แม่บ้าน  คนจรหมอนหมิ่น  หรือใครก็ตาม  ล้วนมีสิทธิที่จะเข้าถึงธรรมได้โดยไม่ต้องปฏิเสธตัวตนที่เป็นอยู่  คือการยอมรับธรรมชาติความเป็นจริงตามที่ตัวเองเป็นด้วยความอ่อนโยนต่อ พลังงานด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะดีหรือร้าย  และใช้ความเมตตานั้นแปรเปลี่ยนพลังงานไปในทางสร้างสรรค์

เมื่อ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวพุทธวัชรยาน  ดังนั้น  การนำเสนอพุทธประวัติจึงมุ่งตรงไปที่คำสอนของพระพุทธเจ้า  ซึ่งให้หันหาความรู้แจ้งจากภายในจิตใจของตน

“การศึกษาบนพุทธวิธี  คือ  ความรู้แจ้งในสรรพสิ่ง
การศึกษาตนเอง  คือ  การก้าวข้ามจากการยึดถือในตนเอง
การก้าวข้ามตนเอง  คือ  ความรู้แจ้งในสรรพสิ่ง
ความรู้แจ้งในสรรพสิ่ง  คือ  การศิโรราบกายและจิตของเรา”


การเข้าถึงกายและจิตของตัวเอง  จะหมายถึงการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเองเพื่อค้นพบว่าสิ่งนั้นนำไปสู่ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง  เพื่อค้นพบว่าสิ่งนั้นนำไปสู่ความคลี่คลายอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอาจเหมาะกับสภาพสังคมที่อนุญาตให้กระทำตามความพึงพอใจ  แล้วใช้ความพึงพอใจนั้นคลี่คลายตัวเองไปสู่ความสงบใจ

อย่างไรก็ดี  มีผู้เข้าใจพุทธตันตระผิดบ่อย ๆ ว่าหมายถึงการทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ  ตัวอย่างเช่น  ศิษย์ตันตระผู้หนึ่งชื่อรุทร  อาจารย์บอกว่าให้ค้นหาธรรมจากทุกประสบการณ์ที่ได้พบ  รุทรจึงออกไปตั้งซ่องโจร ปล้น ฆ่า และประพฤติชั่วทุกอย่าง เมื่อกลับไปหาอาจารย์อีกครั้ง  อาจารย์บอกว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเป็นความผิด  รุทรจึงฆ่าอาจารย์ตาย แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่รุทรไม่ต้องการทำสักนิด  เขาเพียงแต่ตกเป็นทาสของประสบการณ์  เพราะตามสัจธรรมของพุทธศาสนาไม่ว่าสายไหน  คือการแสวงหาหนทางที่อยู่เหนือความทุกข์

อยู่เหนือทุกข์โดยการหักห้ามของหินยาน  อยู่เหนือทุกข์ด้วยการให้ของมหายาน  หรืออยู่เหนือทุกข์โดยการยอมรับอย่างเป็นมิตรของวัชรยาน

“สายธรรมของพระพุทธเจ้า”  เริ่มต้นด้วยพุทธประวัติและธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้  ซึ่งใจความหลักก็คือ  พระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าชายที่ถูกกักขังอยู่ในพระราชวังแห่งความสุขล้น  กระทั่งถูกกระตุ้นเร้าด้วยสัจธรรมของชีวิต  ผ่านการศึกษาใคร่ครวญหลากหลายวิธีการ  ตั้งแต่การำบำเพ็ญตบะแบบโยคี  จนเข้าใกล้ความตายถึงได้กระจ่างว่ามิใช่หนทางแห่งความรู้แจ้ง  พระองค์จึงหันไปสร้างกำลังวังชา  และเข้าสู่กระบวนการภาวนาอย่างลึกซึ้ง  กระทั่งทรงเข้าถึงอิสรภาพทางจิตใจ  ความรู้แจ้งรินไหลผ่านเข้ามาเป็นหลักธรรมแห่งอริยสัจ 4 ซึ่งคลอบคลุมชีวิตไว้ภายใต้กฎของความจริงแห่งทุกข์  เหตุแห่งทุกข์  ความดับทุกข์  และวิถีของการอยู่เหนือทุกข์  ด้วยการเจริญภาวนา

การ เจริญภาวนาจึงกลายเป็นหนทางแห่งความรู้แจ้ง  ซึ่งได้ดำเนินมาด้วยการถ่ายทอดปากต่อปาก  และความศรัทธาเชื่อถือก็ก่อรูปลักษณ์ผ่านองค์กรสงฆ์  ซึ่งได้บัญญัติกฎระเบียบต่าง ๆ  ขึ้นมา  จากนั้นการรู้แจ้งด้วยตนเองก็แยกจากความศรัทธาในศาสนา  และยังแตกไปในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งหินยาน  มหายาน  และวัชรยาน

เรียกธารธรรมเหล่านี้ว่า  “ไตรยาน”  อันประกอบด้วย

ยานแรก  “หินยาน”  แปลว่า  ยานลำเล็ก  ซึ่งคับแคบ  เพราะถือวินัยอย่างเคร่งครัด  แต่ในทางจิตภาวนานั้นเป็นการชะลอความสับสนของจิต
ยานที่สอง  “มหายาน”  เป็นยานลำใหญ่  ขับเคลื่อนความสันติในใจไปพร้อม ๆ กันกับคนหมู่มาก  ผ่านผู้ซึ่งได้อุทิศตนเป็นพระโพธิสัตว์
และยานที่สาม  “วัชรยาน”  เป็นยานที่ไม่อาจทำลายได้  เพราะความรู้แจ้งนั้นอยู่ภายในธรรมชาติของมนุษย์ พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือหินยาน  แพร่หลายจากอินเดียไปในศตวรรษที่ 3  สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งระทมทุกข์จากการก่อสงคราม

ศตวรรษที่ 9 ท่ามกลางความภักดีต่อเทพเจ้าที่หลากหลายของศาสนาฮินดู  ศาสนาพุทธเริ่มออกไปเบ่งบานยังดินแดนอื่น  ทั้งทิเบต  จีน เกาหลี  และญี่ปุ่น  ด้วยรูปลักษณ์ของมหายาน  หรือวิถีแห่งไมตรี

“มหายานเน้นวิถีแห่งไมตรี  หรือการเจริญเมตตาต่อตนเอง  กล่าวคือ  เราต้องเป็นมิตรที่ดีของตนด้วยการเป็นมิตรต่อด้านลบต่าง ๆ ของตน”

“พวก เราแข็งกร้าวเมื่อปฏิเสธบาดแผลภายใน  และต่อว่าผู้อื่นว่าเป็นเหตุแห่งความเจ็บปวดของเรา  หากเมื่อเรายอมรับความเจ็บปวดอย่างเมตตา  เราจะพบว่า  แท้จริงแล้ว  เราอ่อนโยนและบอบบาง”

มหายานมีชื่อเสียงในนามว่า  “เซน”  ซึ่งอิงอยู่กับกับวิธีคิดแบบโลกตะวันออก

น่าสนใจว่าวัชรยานนั้นกลับสอดคล้องยิ่งนักกับสภาพของสังคมตะวันตก กำเนิดของวัชรยานยังประเทศทิเบต  มีศาสนาพื้นถิ่นคือ  “เพิน”  ซึ่งเป็นการบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น  เทพซา  ซึ่งเป็นเทพแห่งพลังจิต  เทพแห่งแสงสว่าง  และลูกเห็บ  เทพเจ้าเหล่านี้เชื่อมโยงระหว่างผืนแผ่นดินกับชาวนา  ครั้นเมื่อศาสนาพุทธเข้ามาก็ไม่ได้มองเห็นอื่นใด  นอกเหนือจากเรื่องพืชพรรณผลผลิต พระศานติรักษิต  เป็นธรรมาจารย์จากอินเดียคนแรกที่มาสู่ทิเบตพร้อมกับภัยธรรมชาติ  ความเป็นพระภิกษุในขนบดั้งเดิมของหินยานและมหายานทำให้ศาสนาพุทธได้รับการ หมางเมิน

กระทั่งการมาถึงของธรรมาจารย์องค์ที่สอง คือพระปัทมสัมภวะซึ่งสำเร็จเป็นสิทธะแห่งตันตระหรือผู้ฝึกวัชรยาน วัชรยานโน้นนำหนทางของการเข้าถึงความรู้แจ้งด้วยประสบการณ์ทุกรูปแบบ  รวมถึงพลังงานทุก ๆ ด้านของมนุษย์ที่ไม่ต้องเก็บกดทำลาย  เพียงแต่รู้จักนำมาแปลงรูปเพื่อกระตุ้นความตื่นรู้จากภายใน
ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ในสายอาชีพอะไร  ล้วนสามารถบรรลุศักยภาพด้วยพลังตันตระ

ยกตัวอย่างพระปัทมสัมภวะ  ซึ่งใช้พลังของตันตระที่ไม่ปฏิเสธผู้ต่อต้านศาสนาพุทธที่เรียกว่าปีศาจ  หากเปลี่ยนแปลงพลังของปีศาจเหล่านั้นให้มาเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธแทน  การไม่ทำลายหรือขจัดพลังงานของปีศาจ  ก็คือการแปรเปลี่ยนในความหมายของตันตระ หรือบ้างก็เรียกว่า เป็นการใช้  “ปัญญาบ้า”  หรือพลังงานดิบเหล่านั้นเป็นเครื่องทะลวงพ้นมายา  ทุกคนจึงบรรลุตันตระได้ด้วยวิถีทางของตน  เช่น  เด็กเกเรบรรลุสัจธรรมได้ด้วยการเข้าถึงความเกเร  ไม่ใช่การปฏิเสธความเกเร  หรือเก็บกดพลังงานของความเกเรนั้นไว้ อาจพูดว่าทุกคนย่อม มีสภาพที่เหมาะสมสำหรับตัวเองในการบรรลุธรรม  ไม่ว่าจะเป็นโสเภณี  นักพนัน  กษัตริย์  หรือเจ้าชาย  มีความเสมอภาคในวิถีแห่งการรู้แจ้งได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบภายนอก  หากเปลี่ยนที่ภายในจิตใจ

หนทางแห่งวัชรยานย่อมเต็มไปด้วย พลังงานที่ยากควบคุมได้เอง  หากปราศจากอาจารย์ผู้ชี้แนะคงเป็นความเจ็บปวดจนแตกสลายไปเสียก่อน  อาจารย์และศิษย์จึงเป็นความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ของการฝึกตันตระหรือวัชร ยาน ยกตัวอย่าง มิลาเรปะ ศิษย์ของท่านมารปะ  ซึ่งได้สอนตันตระด้วยการทำลายความคาดหวังของศิษย์  โดยสั่งให้สร้างและรื้อสิ่งก่อสร้างอยู่หลายครั้ง  จนมิลาเรปะเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อสิ้นหวังและสิ้นความคาดหวังแล้วนั่นเอง  จึงเข้าถึงสภาวะที่ไร้อัตตาความยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งเท่ากับบรรลุธรรมโดยไม่รู้ตัว

วิถีตันตระจึงเต็มไปด้วยความรัก  แต่ก็เย็นชายิ่งนัก

ศาสนาพุทธสายวัชรยานเดินทางไปยังประเทศตะวันตก  ด้วยสถานะของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทว่า ผู้ซึ่งเข้าถึงวิถีแห่งตันตระย่อมไม่ยึดมั่น หากยังเปิดรับประสบการณ์ในดินแดนใหม่ และเพราะคนตะวันตกยังไม่ถูกปรุงแต่งด้วยประเพณี  จึงมีจิตใจที่เปิดรับพุทธธรรมด้วยความสดใหม่ สถานการณ์ของศาสนาพุทธในโลกตะวันตกจึงเบ่งบานด้วยท่าทีที่มีแก่นสารอันคมคายเสียมากกว่าการยึดติดรูปแบบของธรรมเนียมความนับถือ ในสังคมตะวันตก  พุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของฆราวาสเสียมากกว่าจะเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์  ทว่า  ด้านหนึ่งก็หลงทาง  เช่น  การนับถือศาสนาพุทธที่เฟื่องฟูขึ้นมาพร้อมกับวิถีของฮิปปี้ในปลายยุค 60  ซึ่งไม่ได้มีแก่นสารอย่างแท้จริง

ท่านพุทธทาสได้เคยกล่าวถึง ฮิปปี้ในมุมมองของพุทธศาสนาว่า  ฮิปปี้เพียงแต่เกิดความกดดันทางศีลธรรม  แล้วปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของการหลอกตัวเองว่าเป็นความมีอิสระ  หากไม่ใช่วิถีของพุทธบริษัท

สายธรรมของพระพุทธเจ้าที่อยู่ตรงหน้าเรา  หมายถึงการรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้



1 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมชาติแห่งพุทธะ เป็นอิสระแต่เริ่มต้น 

    ชอบ Blog นี้มากๆครับ

    ตอบลบ