วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ธรรมชาติแห่งการดำรงอยู่ จากพุทธศาสนายุคต้น

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา แปลจาก Time and Temporality in Indian Buddhism",  Michel Gauvain

The Persistence of Memory, Salvador Dalí


คำสอนยุคต้น เกี่ยวกับธรรมชาติแห่งการดำรงอยู่

ใน “พระสูตร การหมุนวงล้อแห่งธรรม” (ธรรมจักรกัปวัตนสูตร)
พระ ศากยมุนี พระพุทธเจ้าได้ให้พื้นแก่หลักการเรื่องเวลา ภายใต้หลักแห่งความไม่เที่ยง (หรือ อนิจจัง ในบาลี) ของปรากฏการณ์ทั้งปวง ทั้งนี้ พระองค์นำเสนอ อริยสัจข้อแรก คือ ทุกขสัจ หรือ ความจริงแห่งทุกข์
ต่อ จากนั้น ในมหาสูตรสำหรับขจัดตัณหา หรือ “มหาตัณหาสางขยะสูตร” พระองค์ชี้ว่า ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะสามประการ ของปรากฏการณ์ทั้งปวงในสังสารวัฏ กล่าวคือ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) และ ไม่มีตัวตน (อนัตตา)


ทุกสิ่ง เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะเรามีแนวโน้มจะปรารถนาในโลกอันไม่เที่ยงและปราศจากสาระเที่ยงแท้ อีกนัยหนึ่ง ความทุกข์มีเหตุมาจาก มายาภาพแห่งการดำรงอยู่ชั่วคราว ซึ่งเกิดจาก อวิชชา หรือ การไม่ตระหนักรู้ถึงสภาพธรรมที่แท้แห่งการดำรงอยู่ และการดำรงอยู่ได้รับการพรรณาว่าเป็น กระบวนการซึ่งขึ้นกับเหตุปัจจัย อันไม่สิ้นสุด


การขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย นี่เองเป็นโครงสร้างที่แท้แห่งจักรวาล กล่าวคือ ปรากฏการณ์ใดใดดำรงอยู่ได้
ด้วยเหตุและปัจจัย และเนื่องจากเหตุนั้นไม่เที่ยง ผลจึงไม่เที่ยงดุจกัน

กฏแห่งเหตุและผลนี้ นิยามความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ คือ ถ้ามี x ก็จะมี Y ตามมา
ถ้า ไม่มี x ก็จะไม่มี Y นี้เรียกว่า การเกิดด้วยเหตุปัจจัย (ปฏิจจสมุปบาท) ซึ่งเป็นแก่นแห่งทางสายกลางของพระพุทธองค์ อันตั้งอยู่ระหว่าง ความเห็นที่ว่า ๑) อัตตาและโลกเที่ยงแท้คงทนอยู่เป็นนิรันดร์ (eternalism) และ ๒) ตายแล้วสูญ (nihilism) คำสอนดังกล่าวสะท้อนหลักการพื้นฐานที่ทำให้เราวิเคราะห์พัฒนาการของหลักการ เรื่องเวลาและ ความไม่เที่ยง ในศาสนาพุทธยุคต้นๆได้

ความเห็นของ สำนักอภิธรรม เกี่ยวกับเวลาและความไม่เที่ยง ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะเทศนาถึงกฏแห่งความไม่เที่ยง พระองค์ก็ไม่เคยอธิบายถึงขอบเขตและแบบจำลองของกฏนี้ นี่อาจเป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าตระหนักรู้ธรรมทั้งปวงจากจิตโดยตรง พระองค์จึงไม่ประสงค์จะสร้างระบบภววิทยา (ontological system) แต่ทว่า สำนักต่างๆที่พัฒนาขึ้น ภายในช่วงหลายร้อยปีแรกหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ต้องสร้างระบบภววิทยาที่ดีเยี่ยม เพื่อโต้เถียงต่อกรกับตัวแทนจากศาสนาหรือลัทธิอื่นๆในอินเดีย และเพื่อจะต้านกระแสความคิดจากหลักธรรมย่อยๆอันหลากหลาย ซึ่งเกิดขึ้นภายในพุทธศาสนาเอง

สำนักเหล่านี้ นำเสนอความเห็นซึ่งสอดคล้องกับ หลักธรรมพื้นฐานในพระพุทธศาสนา (อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท อนัตตา และอนิจจัง) และพยายามหาข้อยุติเรื่องขอบเขตของกฏแห่งความไม่เที่ยง โดย พยายามไม่ให้ขัดกับหลักธรรมพื้นฐานที่กล่าวมานี้

หากเราพิจารณาคำสอน ของสำนักอภิธรรมให้ดี เราจะพบว่าคำสอนเหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนแห่งความเข้าใจในกฏของความไม่เที่ยง กล่าวคือ เปลี่ยนจากการตระหนักรู้ธรรมะจากจิตโดยตรง ไปเป็น ระบบภววิทยาที่อธิบายว่าธรรมะนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆอย่างฉับพลัน และจริงๆแล้วความเห็นของสำนักอภิธรรมหลายๆสำนักตั้งอยู่ระหว่างความสุดโต่ง ทั้งสองขั้วนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น